
ประเดิมการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบในประเทศไทยในปี 2018 กับการแข่งขันที่ถือว่าเป็นรายการแข่งขันขันที่สุดแสนจะโหด กับการแข่งขันในรูปแบบเอ็นดูร้านซ์ กับรายการ “R2M 4 & 8 Hours Endurance” ซึ่งถือว่าในปีนี้เป็นการจัดการแข่งขันเป็นปีที่สองต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วแต่ว่าเพิ่มการแข่งขันในรุ่น 4 ชั่วโมงเข้ามาสร้างความสนุกสนานขึ้นอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งทำการแข่งขันในวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สนามไทยแลนด์เซอร์กิต นครชัยศรี โดย YAMAHA R3 TEAM อันประกอบไปด้วย ตี-เต้ย-ต๋ง-ฟอง คว้าแชมป์ 8 ชั่วโมงไปครองที่ 303 รอบ ส่วนแชมป์ 4 ชั่วโมงเป็นของ Team Tingnote Shop คว้าแชมป์ไปครอง 151 รอบ ทีมYamaha Riders’ Club คว้ารองแชมป์ และทีม Satoocharoenyon (หญิงล้วน) คว้าอันดับ 3
โดยที่เกมส์การแข่งขันรถจักรยานยนต์ “R2M 4&8Hours Endurance 2018” นั้นก็จะแข่งขันกันเป็นจำนวน 8 ชั่วโมงตามชื่อรายการโดยใช้รถจักรยานยนต์ 1 คันผลัดสลับนักแข่งในการขับขี่แข่งขันได้ทีมละ 3-5 คน ลงขับขี่ได้ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมงต้องผลัดนักแข่งคนต่อไปลงมาขับขี่แทน โดยที่รถแต่ละคันนั้นสามารถใช้ยางได้ทั้งหมด 8 คู่ด้วยกัน มีเครื่องยนต์สำรองได้ 1 เครื่อง โดยที่ผู้ชนะการแข่งขันนั้นจะนับจำนวนรอบที่สิ่งได้มากสุดเมื่อครบเวลา 8 ชั่วโมง โดยที่จะทำการสตาร์ทการแข่งขันแบบเลอมังส์ โดยที่จอดรถแข่งไว้ที่ขอบแทร็คด้านนึงมีนักแข่งอีกคนคอยยืนจับรถไว้ให้และนักแข่งคนแรกจะยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแทร็ค เมื่อได้สัญญาณเริ่มสตาร์ทการแข่งขันก็จะวิ่งมาสตาร์ทรถและขับขี่พุ่งไปยังโค้งแรกของสนาม โดยที่การแข่งขันนั้นเริ่มขึ้นในเวลา 11.30 น.ไปจบการแข่งขันเวลา 19.30 น. ส่วนในรุ่น 4 ชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นมาในปีนี้ก็สตาร์ทในเวลาเดียวกันแล้วก็จบการแข่งขันในช่วงเวลา 15.30 น.
สำหรับเกมส์การแข่งขันในปีที่สองนี้ก็ยังได้รับการตอบรับจากทางทีมแข่งและนักแข่งดีเหมือนเดิม โดยที่มีแชมป์เก่า ทีมโก๋ท่ามะกา มาป้องกันแชมป์ในรุ่น 8 ชั่วโมง ปีนี้มาในชื่อทีม Yamaha R3 Team ซึ่งในทีมก็จะประกอบไปด้วย ลูกชายสองคนสุดที่รักทั้งสองคน ต๋ง-พีรพงศ์ บุญเลิศ และ เต้ย-รัฐพงษ์ บุญเลิศ รวมไปถึงได้มือดีอีก 2 คนมารวมทีม ตี-อนุภาพ ซามูลและฟอง-คณาฑัต ใจมั่น ลงแข่งโดยใช้ยามาฮ่าYZF-R3 หมายเลข 45 รวมไปถึงยามาฮ่า ไรเดอร์สคลับก็ส่งทีมร่วมลงทั้ง 4 ชั่วโมงและ 8 ชั่วโมง ซึ่งนักแข่งก็เป็นลูกค้าที่ใช้รถมาร่วมคัดเลือกกับทางยามาฮ่า ไรเดอร์สคลับและติดทีมมาแข่งซึ่งก็มีรายชื่อเก่าจากปีที่แล้วมาร่วมลงทำการแข่งขันอยู่ด้วย นอกจากนั้นก็จะมีทีม UTR One ball Racing Team ใช้รถคาวาซากิหมายเลข 71 นำทีมโดย อัศวิน คงทนไพศาล ลงทำการแข่งขัน ทีม MSP Racing Team Real Motorsport ใช้รถ คาวาซากิ นินจา 400 ลงทำการแข่งขัน ทีม candy Strpe Moto Racing team รถยามาฮ่า หมายเลข 159 ทีม Moto Image Racing BRP Racing รถยามาฮ่าหมายเลข 92 ส่วนในรุ่นการแข่งขัน 4 ชั่วโมงก็จะมีทีมลงทำการแข่งขัน ก็มีทีม PTT Chalenger Kawasaki Yss Nok Tuner Tingnote Shop Racing ใช้รถคาวาซากิ หมายเลข 100 นำทีมโดยธเนศ สุขเจริญ ทีมยามาฮ่า ไรเดอร์สคลับกับรถหมายเลข 25 ทีม Your Helmet SatooCharoenyon ทีมนักแข่งผู้หญิงล้วน 3 คนใช้รถหมายเลข 98 นำโดย แยม-จุฑาพันธ์ เขียวนวล, โบว์-ชลธิชา ยิ้มย่องและ พิมพ์-พิมพ์อักษร เรืองจั่น และทีม Yamaha PTT KYT Conexecute DID NGK TS Racing team ประกอบไปด้วย รัชฎา นาคเจริญศรี จิรกิตต์ ธีระนุพงศ์ และเอกลักษ์ เตสังข์ โดยใช้รถหมายเลข 460 ลงทำการแข่งขัน
ซึ่งก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นในวันเสาร์ก็ได้มีการควอลิฟายหาอันดับสตาร์ทกันก่อน โดยที่การสตาร์ทจะสตาร์ทแบบเลอมังจอดรถไว้ริมแทร็คด้านนึงโดยเรียงอันดับจากเวลาควอลิฟาย โดยที่มีคนจับรถไว้ให้แต่งชุดรัดกุมสวมหมวกกันน็อค รองเท้าถุงมือให้เรียบร้อย ส่วนนักแข่งจะต้องยืนอีกฟากของแทร็คแข่งขัน เมื่อได้สัญญาณสตาร์ทก็จะต้องวิ่งข้ามแทร็คมาหารถสตาร์ทเริ่มการแข่งขันกันที่เวลา 11.30 น.โดยที่มีคุณไกรทส วงษ์สวรรค์เป็นผู้ตีธงเริ่มการแข่งขัน
เมื่อเริ่มการแข่งขันก็เป็นไปตามคาด ผลการควอลิฟายโดยที่อนุภาพ ซามูลบนยามาฮ่า YZF-R3 หมายเลข 45 ก็ขึ้นนำฉีกหนีคู่แข่งตั้งแต่เริ่มสตาร์ทกันเลยทีเดียวโดยที่มี Ben Reid หมายเลข 92 จากทีมMoto image Racing BRP ไล่ตามมาเป็นอันดับที่สองไล่เรียงกันเรื่อยมาตามอันดับเวลา ธเนตร สุขเจริญกับรถคาวาซากิ นินจาหมายเลข 100 ก็ตามมาเป็นอันดับที่สามในช่วงสตาร์ทแต่ว่าเป็นอันดับที่ 1 ในรุ่นเวลา 4 ชั่วโมง เกมการแข่งขันก็เป็นไปอย่างตื่นเต้นในช่วงแรกของการแข่งขัน ร่างกายนักแข่งยังถือว่าสด รถทุกคันก็อยู่ในสถาพที่สมบูรณ์เต็มที่ ยางรถคู่ใหม่เอี่ยมที่วอร์มจนได้ที่ก็ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม นักแข่งสามารถทำความเร็วได้เป็นอย่างดี ในผลัดแรกนี้เรียกได้ว่า อนุภาพ ซามูลบนรถหมายเลข 45 นี่เรียกได้ว่าทิ้งกันไปเลยยาวๆ ขยับเวลาห่างออกไปรอบละ 5 วินาทีจากอันดับที่สอง ส่วน ธเนตร สุขเจริญกับรถหมายเลข 100 ก็นำยืดระยะออกไปเรื่อยๆในรุ่น 4 ชั่วโมงเช่นกัน
เมื่อการแข่งขันผ่านไปสักช่วงนึงทีมแข่งแต่ละทีมต่างก็เริ่มทะยอยเปลี่ยนนักแข่งกันแต่ก็ไม่พร้อมกันทีมนำอย่าง Yamha R3 Team ก็เปลี่ยนตัวส่งเต้ย-รัฐพงษ์ บุญเลิศ มือสองลงแทน อนุภาพ ซามูล ซึ่งออกมาขี่ต่อก็ยังคงทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้กัน ส่วนทีมที่ต้องออกจากการแข่งขันไปเป็นทีมแรกก็คือทีมในรุ่น 4 ชั่วโมง Yamaha PTT KYT Conexecute DID NGK TS Racing ซึ่งหลังจากที่จะเข้ามาเปลี่ยนนักแข่งมือสองของทีม เอกลักษณ์ เตสังข์แทนที่ จิรกิตติ์ ธีระนุพงศ์ หลังจากดับเครื่องเติมน้ำมันเรียบร้อยนักแข่งมือสองเอกลักษณ์ สตาร์ทไม่ติด เช็คไปเช็คมาระบบไฟมีปัญหา ก็พยายามหาทางแก้ไขกันจนในที่สุดก็ไม่สามารถทำการแข่งขันต่อได้ ออกจากการแข่งขันไปก่อนเพื่อนด้วยเวลา 38:10.729 นาที ที่ 15 รอบสนาม ส่วนทีมแข่งอื่นๆก็ไม่มีปัญหาอะไรสามารถขับขี่แข่งขันกันได้ต่อ กับระยะเวลาที่เหลือประมาณ 7 ชั่วโมง Yamaha R3 Team ก็ยังคงเป็นผู้นำอยู่ทำระยะเพิ่มรอบการแข่งขันไปได้เรื่อยๆเช่นเดียวกับรถหมายเลข 100 ทีม PTT Chalenger Kawasaki Tingnote shop ในรุ่น 4 ชั่วโมง ส่วนผู้ไล่ตามอย่างทีม Moto Image Racing รถหมายเลข 92 ก็พยายามไล่ตามเพิ่มรอบไปได้เรื่อยๆเช่นกันอันดับที่สามก็เป็นทีม UTR Oneball Racing ก็ตามเพิ่มรอบมาใกล้ๆกัน ทีมยามาฮ่า ไรเดอร์คลับทั้ง 4 และ 8 ชั่วโมงก็เป็นรถอีกทีมที่ทำรอบเพิ่มมาได้เรื่อยๆไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
จนกระทั่งนักแข่งมือสามมือสี่ของทีมก็เปลี่ยนตัวลงไปทำการแข่งขัน ในรุ่น 8 ชั่วโมงทีม Yamaha R3 Team ก็ทำจำนวนรอบที่นำห่างอันดับที่สองทีม Moto Image Racing BRP เกือบสิบรอบได้ คณาฑัต ใจมั่น อันดับสามรุ่น AP250 เรซสอง รายการชิงแชมป์เอเชียก็พลาดท่าเบรคที่โค้งแรก ล้มลงไปทำให้รถได้รับความเสียหายต้องเข้าพิทมาทำการเซอร์วิสรถ เปลี่ยนพักเท้าทางด้านขวาไปเป็นที่เรียบร้อยเช็คความพร้อมต่างๆก็ออกไปแข่งขันต่อได้โดยที่อันดับที่สองที่ตามมาก็ไล่กระชั้นเข้ามาเหลือเพียงสามรอบเท่านั้น ก็แข่งขันกันต่อไป โดยที่เกมการแข่งขันก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น คาดเดาอะไรไม่ได้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่จะสามารถทำให้ไม่ได้แข่งต่อ โดยที่อันดับที่สองที่ไล่ตามมานั้นในจังหวะเวลาที่พยายามไล่เข้ามาก็เกิดอุบัติเหตุล้มอย่างแรงที่โค้ง 13 ก่อนออกทางตรง ทำให้รถสไลด์ออนต้องทำงานแล่นออกไปรับรถที่พังกลับพิท และเสียเวลาเซอร์วิสรถเพื่อจะที่กลับเข้ามาแข่งขึ้นต่อ โดยใช้เวลาแปลงสภาพรถยับๆกลับมาแข่งต่อได้ในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งทำให้อันดับตกไปอยู่ท้ายเลยก็ว่าได้
ส่วนในรุ่น 4 ชั่วโมงนั้นเมื่อครบกำหนดการแข่งขันจบที่เวลา 15.30 น. นั้นก็เป็นอันดันว่าทีม PTT Chalenger Kawasaki YSS Nok Tuner Tingnote shop Racing รถหมายเลข 100 คว้าแชมป์ 4 ชั่วโมงไปครอง กับจำนวนรอบ 151 รอบ อันดับที่สองเป็นทีม 4 ชั่วโมงของทีมยามาฮ่า ไรเดอร์สคลับ รถยามาฮ่า YZF-R3 หมายเลข 25 ที่จำนวนรอบ 139 รอบ อันดับที่สามเป็นที่นักแข่งหญิงล้วน ทีม Your Helmet Satoocharoenyon ทีจำนวนรอบ 132 รอบสนาม
ส่วนในรุ่น 8 ชั่วโมงก็ทำการแข่งขันกันต่อไปให้ครบ 8 ชั่วโมง แต่ละทีมก็เปลี่ยนนักแข่งลงไป เปลี่ยนยางคู่ใหม่ที่มีความหนึบมากกว่ายางคู่เดิม เติมน้ำมันให้พร้อมก็ลงไปหวดคันเร่งทำจำนวนรอบสนามให้เพิ่มมากขึ้น โดยที่ ทีม Yamaha R3 Team ก็ยังคงไม่มีอะไรผิดพลาดยังคงเป็นผู้นำอยู่หลายรอบ และก็เกิดอุบัติอีกครั้งกับทีมเดิม ทีม Moto Image Racing BRP อีกครั้งกับรถหมายเลข 92 ล้มแรงอีกเช่นเคยหลังจากที่พยายามบวกเวลาขึ้นมา ทำให้ครั้งนี้เกินเยียวยาที่จะทำรถกลับมาแข่งต่อจึงต้องออกจากการแข่งขันไปเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 5.35 ชั่วโมง กับจำนวนรอบ 142 รอบที่ทำได้ ส่วนทีมที่เหลือก็พยายามรักษาอันดับของตัวเองอย่างเต็มที่ จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงท้ายจริงๆก็คือช่วงที่ต้องเปิดไฟหน้าลงทำการแข่งขันกับสภาพสนามที่มีแสงไฟส่องที่โค้งให้นักแข่งได้เห็นกันทดสอบความสามารถในการขับขี่ในช่วงค่ำ ซึ่งนักแข่งทุกทีมก็สามารถทำได้อย่างดีเยี่ยม แต่ก็ไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ไม่จบการแข่งขันได้หรือเปล่า
สุดท้ายเกมการแข่งขันอันยาวนานแสนทรหดก็จบลงที่เวลา 19.30 น. ทีมชนะเลิศในการแข่งขัน 4&8 Hours Endurance 2018 นี้ก็คือทีม Yamaha R3 Team กับการขับขี่ผลัดสุดท้ายของต๋ง-พีรพงศ์ บุญเลิศ บนรถยามาฮ่า YZF-R3 หมายเลข 45 ซึ่งคว้าแชมป์ไปครองด้วยจำนวนรอบที่มากที่สุดทำเอาไว้ได้ 303 รอบสนาม อันดับที่ 2 เป็นของทีม UTR Oneball Racing team ทำจำนวนรอบได้ 296 รอบสนาม อันดับ 3 เป็นของทีมยามาฮ่า ไรเดอร์สคลับ กับรถยามาฮ่าหมายเลข 46 ทำจำนวนรอบได้ทั้งหมด 288 รอบสนาม อันดับที่ 4 เป็นของทีม MSP Racing Team Real Motor Sport กับรถหมายเลข 359 อันดับที่ 5 เป็นของทีม Candy Stripe Moto Racing Team ทำเอาไว้ได้ 277 รอบสนาม