
กับเกมสนามที่ 15 ของ 2017MotoGP บนแทร็ค TwinRingMotegi สนามแข่งที่ซึ่งลงทุนสร้างโดยHonda ตั้งแต่ปี 1997 โดยได้บรรจุเป็นหนึ่งในสนามแข่งขัน WGP ในชื่อรายการว่า Pacific motorcycle GrandPrix ระหว่าง 2000-2003 หลังจากนั้นญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพเพียงแค่สนามเดียวหลังยกเลิกเกมที่ Suzuka ก็เริ่มเรียกรายการที่สนาม Motegi ว่า Japanese motorcycle Grand Prix ตั้งแต่ปี 2004 สำหรับแทร็คแห่งนี้ โดยมากจะเป็นโค้งที่ใช้ความเร็วต่ำมากกว่าโค้งที่ใช้ความเร็วสูงซึ่งมีอยู่เพียงกี่โค้ง ขณะที่ช่วงทางตรงก็เป็นช่วงที่ใช้ความเร็วในระดับปานกลาง ซึ่งมีถึง7โค้งที่ใช้ความเร็วต่ำกว่า 100กม./ชม. ส่วนหนึ่งนั้น การออกแบบสนามแข่งแห่งนี้เป็นแนวความคิดของสนามแข่ง ยุคใหม่ ที่โดยมากจะเป็นสไตล์การขี่แบบที่เรียกว่า Stop and Go ฉะนั้นหลายโค้งจึงแทบจะเรียกได้ว่า หยุดหรือเบรกแล้วก็ทะยานออกไป นั่นเอง และนับตั้งแต่เริ่มใช้ในการแข่งขันระดับ World Championship ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 1999 เป็นต้นมา สนามแห่งนี้ ได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นสนามแข่งที่ มีผลต่อความยากลำบากในการเซ็ทเบรกมากที่สุด โดยเฉพาะ เรื่องของความร้อนที่เกิดจากการเบรก ซึ่งระยะทางจากโค้งหนึ่งไปสู่อีกโค้งหนึ่งนั้น สร้างความยากในการระบายความร้อนที่เกิดกับจานดิสก์และระบบเบรกอย่างยิ่ง ดังนั้น จากระดับความยากของการใช้เบรกของแทร็คแห่งนี้ จากเลเวล 1 ถึง 5 ได้ระบุว่า การใช้เบรกที่ Twin Ring Ring Motegi นี้ อยู่ใน เลเวล 5 และจากความต้องการการใช้เบรกและจังหวะการเบรกกิ้งที่ดีนี้เอง จึงได้มีการปรับกติกาเป็นกรณืพิเศษ โดยทาง FIM ได้กำหนดว่า จานดิสก์เบรก สำหรับแทร็คแห่งนี้ สามารถใช้จานดิสก์ ขนาด 340 มม. ได้
จากทั้ง 14 โค้งของสนามแข่ง จะมี 10 จุดที่ต้องการใช้เบรก และจะมีถึง 5 จุด ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเบรกหรือใช้เบรกมากกว่า 4 วินาที จึงส่งผลให้ในแต่ละรอบมีระยะเวลาความต้องการใช้เบรกมากถึง 35 วินาที ที่อาจจะคำนวณได้เทียบเท่ากับเวลา 33% ของเวลาการขี่ต่อหนึ่งรอบสนาม ถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์เดียวกับ สนาม Jerez ที่ประเทศสเปน ในขณะที่การออกแรงกดลงบนมือเบรกของนักแข่งแต่ละคนที่ใช้ระหว่างการแข่งขันตั้งแต่ออกสตาร์ทจนครบรอบการแข่งขันนั้น จะคำนวณแรงกดจากการเบรกเทียบได้กับน้ำหนักรวม 1.2 ตัน ซึ่งจะเท่ากับน้ำหนักของหุ่นยนต์ Asimo ของ Honda ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภายในสนามแข่ง รวมกันเป็นจำนวน 25 ตัว
สำหรับทั้ง 10 จุดของการเบรก บนแทร็คนี้ จะแบ่งเป็น ระดับกลาง 4 โค้ง,ระดับปานกลางและระดับเบา อย่างละ 3 โค้ง โดยเฉพาะในโค้งที่ 11 ที่จะเกิดแรงระดับ 1.5G จากโค้งแบบเลี้ยว 90องศา ที่รถแข่งจากความเร็ว 308 กม./ชม. จะต้องลดเหลือความเร็วสุดท้าย 86 กม./ชม. ในระยะเวลา 5.2 วินาที กับระยะเบรกที่มีความยาว 263 ม. ซึ่งจะเกิดแรงดันภายในระบบเบรกที่น้ำมันเบรกต้องรองรับแรงดันระดับ 13.2บาร์ นอกจากนี้ โค้งที่มีความยากในจังหวะการเบรกกิ้งก็คือ โค้งที่ 1 ,3 ,5 ที่ต่างก็มีความยากซึ่งจังหวะการเบรกนั้นจะเกิดแรง ในระดับ 1.4G สำหรับรายละเอียดความยากของทั้งสี่โค้งไฮไลท์ มีดังนี้
ในโค้งที่ 11 : จากความเร็ว 308 กม./ชม. จะต้องลดเหลือ ความเร็วสุดท้าย 86 กม./ชม. บนระยะทางเบรก 263 เมตรใช้เวลาในการเบรก 5.2 วินาที โดยจะใช้แรงกดบนเบรกเทียบเท่ากับน้ำหนัก 7.6 กก. ซึ่งในจังหวะการเบรกนี้จะเกิดแรงระดับ 1.5G
ในโค้งที่ 1: จากความเร็ว 279 กม./ชม.จะลดเหลือความเร็วสุดท้าย 85 กม./ชม. บนระยะทางเบรก 250 เมตร ในระยะเวลาของการเบรก 5.3 วินาที ซึ่งจะเกิดแรงกดบนเบรกเทียบเท่ากับน้ำหนัก 6.1 กก. ซึ่งในจังหวะนี้จะเกิดแรงระดับ 1.4G
ในโค้งที่ 3 : จากความเร็ว 271 กม./ชม. จะลดเหลือความเร็วสุดท้าย 94 กม./ชม. บนระยะทางเบรก 211 เมตร ใช้เวลาในการเบรก 4.4 วินาที ซึ่งจะเกิดแรงกดลงบนเบรกเทียบเท่ากับน้ำหนัก 7.4 กก. ซึ่งในจังหวะนี้จะเกิดแรงในระดับ 1.4G
ในโค้งที่ 5 : จากความเร็ว 270 กม./ชม. จะลดเหลือความเร็วสุดท้าย 76 กม./ชม. บนระยะทางเบรก 222 เมตร ในระยะเวลาการเบรก 4.9 วินาที ซึ่งจะเกิดแรงกดลงบนเบรกเทียบเท่ากับน้ำหนัก 7.9 กก. และจะเกิดแรงจากการเบรกในระดับ 1.4 G
นับจากการบันทึกในฐานะของรายการ Japaneses GP ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมานั้น ชัยชนะเป็นของ Honda 8 ครั้ง , Ducati 4 ครั้ง(Loris Capirossi 3 ครั้ง) , Yamaha 4 ครั้ง , และ Suzuki 1 ครั้ง ทว่าใน 6 ครั้งหลังสุด ชัยชนะที่นี่ ล้วนเป็นของนักแข่งสเปนทั้งสิ้น โดยเฉพาะ แดนี่ เปโดรซ่า ที่ชนะได้สามครั้ง ขณะที่ อังเดร โดวิซิโอโซ่ นั้น เคยชนะในปี 2004 จากรุ่น 125 ซีซีกับรถแข่งHonda ซึ่งผลงานใน เจ็ดฤดูกาลหลังสุด ที่ Twin Ring Motegi มีดังนี้
2016 : Marc Marquez –Andrea Dovizioso-Maverick Vinales
2015 : Dani Pedrosa – Valentino Rossi – Jorge Lorenzo
2014 : Jorge Lorenzo-Marc Marquez-Valentino Rossi
2013 : Jorge Lorenzo-Marc Marquez-Dani Pedrosa
2012 : Dani Pedrosa –Jorge Lorenzo-Alvaro Bautista
2011 : Dani Pedrosa –Jorge Lorenzo-Casey Stoner
2010 : Casey Stoner-Andrea Dovizioso-Valentino Rossi