​อัพเดทความเคลื่อนไหว 2020 MotoGP ในยุคโควิด กับแนวทางการจัดการแข่งขัน หากสถานการณ์ Covid-19 คลี่คลาย

ฟินแลนด์ รั้ง49 มียอดผู้ติดเชื้อ 4,475คน ซึ่งแซงหน้าไทยที่หล่นลงมาอยู่ 57 มียอด 2,907 คน ในขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ พร้อมกับประกาศล่าสุดจากรัฐบาลฟินแลนด์ ลั่นแบนกิจกรรมทุกอย่างที่มีผู้ร่วมงานเกินห้าร้อยคน และนี่ทำให้ MotoGP ตามกำหนดการ 12 กรกฎาคมที่สนาม Kymiring ประกาศเลื่อนออกไปเป็นสนามล่าสุด ขณะที่กลุ่มจ่าฝูงบนตารางอันดับโลกนั้น สหรัฐยังโด่งโดยมี สเปน-อิตาลี-ฝรั่งเศส-เยอรมัน-อังกฤษ รวมทั้งตุรกี ที่มียอดติดเชื้อหลักแสนคน ดังนั้น ก่อนหน้าที่สนามที่ฟินแลนด์จะประกาศเลื่อนหนึ่งวันก็มียืนยันว่าที่เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน ก็เลื่อนไปก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน รวมแล้วแปดสนามแรกของฤดูกาลถูกประกาศเลื่อน อย่างเป็นทางการ โดยยังเหลือ สนามที่ 9 สาธารณะเชค ที่กำหนดไว้ตามโปรแกรม คือ 9 สิงหาคม ตามด้วย สนามสิบที่ออสเตรีย คือ 16 สิงหาคม และรันไปปลายเดือน 30 สิงหาคม สนามสิบเอ็ดที่อังกฤษ ก็ต้องมาลุ้นว่า สถานการณ์ในประเทศดังกล่าวเป็นเช่นไร จะประกาศเลื่อนหรือ ยืนยันจะคงโปรแกรมไว้นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาด ที่สำคัญ“โปรแกรมการแข่งขันจะอัพเดทอย่างไร”
 
หลายๆฝ่ายคาดเดาต่างๆนานาว่าจะกลับมาแข่งตอนไหนสนามไหน จัดอย่างไร ซึ่งในวงสนทนาของ กอง บก.จักรยานยนต์เวิลด์เราก็ได้พูดคุยกันและเชื่อว่า ประเด็นสำคัญในการที่จะกลับมาจัดแข่งขันนั้น อยู่ที่การยกเลิกมาตรการ กักตัว 14 วัน นี่คือกุญแจสำคัญ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น หลายสำนักข่าวต่างก็เล่นประเด็นโน่นนี่นั่นไปเรื่อย ตามการคาดเดาตามแหล่งข่าวที่แต่ละคนได้รับ ถึงตรงนี้กองบรรณาธิการเรามีบางส่วนของบทสัมภาษณ์ Jorge Viegas ประธาน FIM ในประเด็นที่น่าสนใจก็คือ
 
“ เราติดต่อกับสมาพันธ์แต่ละประเทศ แต่ละทวีป ทุกๆที่ล้วนเผชิญกับสถานการณ์เช่นเดียวกัน แต่ละออฟฟิศปิดตัว จนท.ไปทำงานที่บ้านทุกคนต่างรอและหวังว่าสถานการณ์นี้จะผ่านไปด้วยดี การแข่งขันชิงแชมป์ประเทศของแต่ละประเทศสมาชิกต่างก็ยกเลิกและมีการปรับเลื่อนเช่นเดียวกัน เราได้พูดคุยกันและปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการแข่งขันแบบเดียวกับที่เราอาจจะต้องทำเพื่อให้สามารถดำเนินการแข่งขันได้อย่างดีที่สุด เราอาจจะมีการปรับจากแผนการแข่ง 12เดือนมาเหลือ 3 เดือน หรือ 5 เดือน สำหรับการเก็บคะแนนสะสมชิงแชมป์ บางทีอาจจะเลยเข้าไปถึงช่วงเดือนมกราคมถ้าหากจะต้องเป็นเช่นนั้นก็ต้องจัดการให้ดีที่สุด เพื่อคงการแข่งขันไว้เท่าที่จะเป็นไปได้ และนั่นก็คงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะเป็นไปเช่นไร เช่นเดียวกับการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เวลานี้เราอาจจะเหลือสัปดาห์ของการจัดการแข่งขันไม่เพียงพอเช่นสถานการณ์ปกติ เราก็อาจจะต้องปรับแผนการจัดการแข่งขันให้กระชับยิ่งขึ้น หรืออาจจะต้องมีการเลยเข้าไปถึงเดือนมกราคม แน่นอนว่าฤดูกาล2020 นี้อาจจะไม่ปกติ แต่ก็อาจจะมีผลถึงฤดูกาล 2021 ด้วยเช่นกัน ถึงเวลานี้เราไม่ได้คิดถึงแค่เรื่องราวในปีนี้แต่เราต้องมองถึงปีถัดไปอีกด้วย ”
 
“ ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง จนเราสามารถกลับมาจัดการแข่งขันได้อีกครั้งเราก็อาจจะจัดแข่งโดยไม่ต้องมีผู้ชม เราก็อาจจะจัดแข่งให้สั้นกระชับมากที่สุด ลดขนาดงานให้เล็กลง รวมทั้งคงไว้เฉพาะการแข่งขันที่พร้อมและปลอดภัยที่สุดเพื่อให้สามารถจัดการแข่งขันได้อย่างปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจะทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อ save the championship ในปีนี้ ”
 
“ เมื่อผมพูดถึง Championship นั่นหมายถึง MotoGP,WorldSBK,MXGP,Enduro,Speedway,Trial โดยมีเพียงรายการเดียว คือ Six Days ISDE ที่ได้ตกลงเลื่อนการแข่งขันไปเป็นปีหน้าแล้ว ขณะที่การแข่งขันแรลลี่นั้นตอนนี้เหลืออยู่สองรายการที่ยังวางแพลนการเตรียมงานไว้ที่จะกลับมาจัดการแข่งขัน ” ก็เป็นบทสัมภาษณ์จากที่ต่างๆของ Jorge Viegas ; FIM President ที่เรารวบรวมและประมวลมาเล่าสู่กันฟัง แน่นอนไม่ตรง100% แต่อย่างที่บอก จับใจความมาเล่าสู่กันฟังถึงทิศทางแนวทางของบอสใหญ่ขององค์กรมอเตอร์สปอร์ตโลก ซึ่งก็นั่นแหละแต่ละสื่อก็เอาไปขยายความกันเอง แม้แต่ฝั่งสเปนเองยังพยายามจับชนกับบทสัมภาษณ์ของ CEO Dorna อย่าง Carmelo Ezpeleta ที่บอกว่าหากการแข่งขันเลยไปถึงเดือนมกราคม ก็จะมีปัญหากับโปรแกรมฤดูกาล 2021 ทำนองว่า ดอร์น่าต้องการจัดแข่งให้จบภายในเดือนธันวาคม ทั้งที่บอสดอร์น่าให้สัมภาษณ์ตั้งแต่เดือนก่อน แต่ก็ดันจับมาเป็นประเด็นชนกับบทสัมภาษณ์ของประธานFIM ที่เพิ่งจะให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา อันนี้ก็ว่ากันไป ตามความสามารถในการที่จะเล่นข่าวสร้างประเด็นของสื่อที่ต้องการยอดต้องการกระแส
 
“อัพเดทสถานการณ์วันต่อวัน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นั่นคือเรื่องที่ทั้งดอร์น่าและFIM เน้นถึงความปลอดภัย หากจะจัดแข่งอีกครั้งที่สำคัญ คือ การปลดล็อคให้สามารถเดินทางได้โดยอิสระ ไม่มีมาตรการ กักตัว 14 วัน นี่คือสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญ ที่ว่าจะกลับมาจัดแข่งได้เมื่อไร” หากอ่านโดยละเอียดจากข้อความคร่าวๆของประธาน FIM ที่เราประมวลผลมานั้นก็ชัดเจนว่า ยังต้องการจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกในฤดูกาลนี้ โดยจะกลับมาจัดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ “ทุกคนต้องปลอดภัย” และ ระดับมาตรฐานความปลอดภัยของการแข่งขันจะยังต้องมีเช่นเดิม เพียงแต่ อาจจะจัดโดยไม่ต้องมีคนดูก็เป็นไปได้ และปรับอีเว้นท์ให้มีความกระชับมากยิ่งขึ้น แต่ที่น่ากังวล คือ จำนวนสัปดาห์จัดการแข่งขันที่เหลือนั้น จะไม่เพียงพอกับจำนวนรายการที่มีตามโปรแกรม ซึ่งก็คงจะเป็นสิ่งที่ FIM -โปรโมเตอร์-รัฐบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศต้องมาอัพเดทกัน ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ขณะเดียวกันข่าวความเคลื่อนไหว ล่าสุดอีกครั้ง จากองค์กรที่ชื่อ IRTA ได้ส่งจดหมายถึงสมาชิกหรือทีมแข่งต่างๆใน MotoGP น่าจะเรียกว่าเป็นการหยั่งเชิง ถึงแนวทางหรือเงื่อนไข ที่อาจจะกลับมาจัดแข่งได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์ในบางประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง
 
“behind closed doors” หรือ ปิดประตูแข่ง โดยในเบื้องต้น จะไม่มีผู้ชมในสนาม ไม่มีแขกรับเชิญของทีมต่างๆ รวมทั้งแขกจากสปอนเซอร์ต่างๆที่แม้จะมีบัตรผ่านทั้งฤดูกาลก็ห้ามเข้าสนามเช่นกัน อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับประเทศเจ้าภาพว่า ห้ามบุคคลจากประเทศไหนอย่างไรที่จะอนุญาติให้เดินทางเข้าประเทศที่จัดแข่งเพื่อกำหนดบุคคลหรือสัญชาติที่จะเดินทางมาร่วมงาน โดยปกติในแต่ละอีเว้นท์จะมีบุคลากร 1,000-1,500 คน ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆในการแข่งขัน ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องลดจำนวนให้น้อยลง นั่นหมายความว่า สต๊าฟแต่ละส่วน รวมทั้งทีมต่างๆ ก็จะต้องปรับลดจำนวนลงเหลือเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ในแต่ละรุ่นก็จะกำหนดจำนวนคนที่จะเข้ามาทำงานตามความเหมาะสม
 
นั่นหมายความว่า โครงสร้างพื้นฐานเดิมของการทำงานปกติจะถูกปรับลดลงเหลือเฉพาะที่จำเป็น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เจ้าหน้าที่ต่างๆจะถูกห้ามเข้ามาทำงานในสนาม อาทิ ทีมพีอาร์, ฝ่ายจัดการต่างๆของแต่ละทีม ก็จะต้องทำงานผ่านเน็ทเวิร์คประสานงานกับทีมอยู่ที่บ้านแทนการมาทำหน้าที่ในสนามเป็นต้น นี่คือ ข้อเสนอที่มีการหยั่งเชิงถึงทีมต่างๆ จาก IRTA ที่ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
เป้าหมาย คือ การจัดแข่ง การดำเนินกิจกรรมการแข่งขัน ให้เป็นไปตามแพลนเท่าที่จะทำได้ เพื่อคงให้มีการแข่งขันสะสมคะแนนชิงแชมป์โลก แต่ปรับลดขนาดและระยะเวลา ในการดำเนินงานให้กระชับกว่าปกติ เท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อความปลอดภัยของทุกๆคน ที่อาจจะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อได้นั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับว่า ทิศทางจะคลี่คลายไปอย่างไร  จะกลับมาแข่งขันในเดือน มิถุนายน, กรกฎาคม, สิงหาคม หรือ จะยาวไปถึง กันยายน และหรือ จะผ่านไปถึงตุลาคม หรือไม่นั้น คงต้อรออัพเดทสถานการณ์จริงจากแต่ละประเทศ แต่ละรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไรกันบ้าง แต่ที่แน่ๆ มีไม่ครบทุกสนามตามแพลนที่วางไว้แน่นอน ยกตัวอย่างเช่น WorldSBK นั้น ก็มีการประกาศ postponed หรือเลื่อนกำหนดขอ สนาม Misano ขณะที่ สนาม Imola นั้นประกาศ canceled หรือ ยกเลิกไปแล้ว เป็นต้น หรือฝั่ง MotoGP ล่าสุดนั้น ก็น่าจะเป็นเกมที่สนาม Sachsenring ในเยอรมัน จากกำหนดเดิม 21 มิถุนายน รวมทั้ง WorldSBK ที่สนาม Oschersleben ที่แพลนไว้ 2 สิงหาคม ก็ไม่สามารถจัดได้ เมื่อรัฐบาลเยอรมันประกาศห้ามจัดงานขนาดใหญ่ จนถึง 31 สิงหาคม ในเบื้องต้นนี้ข่าวว่า WorldSBK ในเยอรมันนั้น ได้ตัดสินใจ canceled ไปแล้ว ส่วน MotoGP นั้น ยังรอดูสถานการณ์ต่อไปว่าจะเอาอย่างไร
 
จากสถานการณ์นี้เองยังส่งผลถึงระบบโดยรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ และเศรษฐกิจ ต่างได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน หลายโรงงานผู้ผลิต “หยุดการผลิต” การค้าขายชะงัก เช่นเดียวกับที่ทีมแข่งต่างก็ต้องผจญกับปัญหาการเงิน โดยเฉพาะทีมแซทเทิลไลท์เกือบทั้งหมด ที่มักจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อได้แข่งขันไปแล้ว ดังนั้นเมื่อไม่มีการแข่งขัน เงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์หลายทีมจึงขาดตอนไป ขณะที่ทีมแฟคทอรี่เอง ทั้งAprilia , Ducati , Honda , KTM , Suzuki , Yamaha ต่างก็ได้รับผลเช่นกัน เมื่อโรงงานหยุดสายการผลิต ก็ย่อมส่งผลต่อเรื่องของงบดุลเช่นกัน ขณะเดียวกัน จากการยกเลิกกำหนดการแข่งที่กาตาร์ ทำให้ทุกทีมยังคงมีปัญหาในส่วนของขั้นตอนการโฮโมโลเกทเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ ที่ก่อนเริ่มแข่งสนามแรกนั้น ทุกทีมจะต้องส่งเครื่องยนต์และบอดี้พาร์ท เพื่อเข้าสู่กระบวนการโฮโมโลเกทและขั้นตอนที่เรียกว่า ฟรีช หรือแช่แข็งเครื่องยนต์ให้เสร็จสิ้น แต่เมื่อยกเลิกกเกมที่กาตาร์ เกือบทุกแฟคทอรี่จึงส่งชิ้นส่วนตัวอย่างไม่ทัน และยังคาราคาซังจนถึงตอนนี้ ในที่สุดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ประชุม Grand Prix Commission จึงประกาศใช้แผน ลดต้นทุนการแข่งขัน โดยห้ามทุกทีมพัฒนาเครื่องยนต์ ในฤดูกาลนี้ โดยทุกทีมที่จะส่งเครื่องยนต์เข้ามาโฮโมโลเกท ในปี 2020 นี้ ก็จะบังคับใช้ในปี 2021 ด้วย กล่าวคือเครื่องยนต์ที่เตรียมไว้ในปีนี้ “จะต้องใช้ในปีหน้าด้วยนั่นเอง” โดยไม่มีการพัฒนาใดๆนับจากนี้ แม้แต่ Aprilia และ KTM ที่ปกติจะยังคงได้สิทธิปรับแต่งเพิ่มเติมได้ในระหว่างฤดูกาลแข่งขัน ก็จะถูกระงับสิทธินั้นไปโดยปริยาย กล่าวคือ เมื่อเดือนมีนาคม ใครเตรียมเครื่องยนต์มาโฮโมโลเกทอย่างไร ก็ต้องใช้เช่นนั้นไปจนถึงฤดูกาลหน้าด้วยนั่นเอง
 
ส่วนทางชิ้นส่วนของ แอโรไดนามิค นั้นก็คล้ายกับเครื่องยนต์ คือ ยื่นมาอย่างไรในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็จะต้องใช้ในปี2021 ด้วย แต่มียกเว้นให้ว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูกาล 2021 จะอนุญาตให้สามารถทำการอัพเกรดได้หนึ่งครั้ง
 
ในฐานะองค์ควบคุมการแข่งขันรถจักรยานยนต์ระดับโลก FIM ได้ติดตามสถานการณ์ปัจจุบันในแต่ละประเทศ เพื่อจะพยายามกลับมาจัดการแข่งขันชิงแชมป์ในแต่ละประเทศได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง ดังนั้น นอกจากการประสานนโยบายของ FIM แล้ว มาตรการการรับมือของแต่ละประเทศก็ต้องเป็นไปตามนโยบายของแต่ละรัฐบาลอีกด้วยเช่นกัน ก็หวังว่า ฤดูกาลแข่งขันปีนี้ในทุกๆระดับจะสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง





UIP : 532 | Page View : 730