
MT-07 DT คือรถแข่งในสังเวียน American Flat Track ที่สร้างแชสซีส์ขึ้นมาใหม่โดยอาศัยพื้นฐานเครื่องยนต์ YAMAHA MT-07 เป็นขุมพลังขับเคลื่อนเพื่อลงชิงชัยใน AFT Super Twins Class นี่คือการกลับมาสู่สังเวียนครั้งแรกในรอบเกือบสามสิบปีของรถแข่งYAMAHA ในการแข่งขัน FlatTrack ระดับพรีเมียร์คลาสที่สหรัฐอเมริกา ดังนั้นนี่คือ การเริ่มต้นเข้าสู่ยุคใหม่ของ A Modern Flat Tracker ด้วยรถแข่งยุคใหม่ที่เราเอ่ยไปแล้ว MT-07 DT นั่นเอง
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา Estenson Racing พยายามอย่างมากที่จะพัฒนารถแข่งให้มีความพร้อมมากที่สุดกับการลงชิงชัยเพื่อความสำเร็จ ภายใต้หัวหน้าโปรเจ็คของทีมอย่างTommy Hayden หนึ่งในยอดนักแข่งอเมริกันซูเปอร์ไบค์ ที่ชนะมากมายในสายโรดเรซของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้กล่าวว่า “ จากแชสซีส์มุมมองที่เราสร้างขึ้นมานั้นมันมีความรู้สึกราวกับว่าใกล้เคียงกับMotoGPไม่น้อย เพราะเราต้องเริ่มต้นการสร้างในแบบโปรโตไทพ์ ที่ต้องคิดค้นลองผิดลองถูกเพื่อให้ได้แบบที่ดีที่สุดสำหรับรถแข่งของเรา เราพยายามลองใช้สเปคต่างๆตามข้อมูลที่ทีมเราคำนวณออกมาได้ แม้จะเป็นต้นแบบหรือโปรโตไทพ์แต่ทุกชิ้นส่วนนั้นเราเคารพในกติกาอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกันกับส่วนของเครื่องยนต์นั้นก็เปรียบได้กับการแข่งขันใน World Superbike ที่รถแข่งล้วนต้องเริ่มต้นจากเครื่องยนต์เดิม แล้วพยายามทำการปรับแต่งเพิ่มเติมโดยที่ให้มีความแตกต่างจากมาตรฐานเดิมน้อยที่สุด แต่ต้องเหนือกว่ารถโปรดักชั่นทั่วไปเพื่อให้ได้สมรรถนะที่มากที่สุดโดยยังคงความเป็นรถโปรดักชั่นไว้ได้ เราไม่ได้ทำการเปลี่ยนชิ้นส่วนพิเศษอะไร ยังคงพื้นฐานเดิมไว้ เพียงแค่อาจจะมีการโมดิฟายบ้างตามที่กติกากำหนดให้ทำได้ ”
ที่จริงแนวความคิดที่จะก้าวสู่สังเวียนการแข่งขัน FlatTrack นั้น ทางYamaha Motor Corporation USA มีไอเดียที่จะทำรถแข่งคืนสังเวียน FlatTrack เมื่อกติกาการแข่งขันเปิดกว้างมากขึ้น “ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มรถอเมริกันพันธุ์แท้เท่านั้น” ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มที่จะสนใจนำ FZ-07 หรือ MT-07 มาปรับเซ็ทเครื่องยนต์เพื่อให้เหมาะกับการแข่งขัน ซึ่ง Keith McCarty ในฐานะ Racing Division Manager ได้กล่าวว่า “ แรกเริ่มเลยมีเสียงเรียกร้องเข้ามามากถึงความต้องการที่จะให้เราทำเครื่องยนต์สำหรับใช้แข่งขันหรือขี่ในสไตล์ FlatTrack จำนวนไม่น้อย ซึ่งเราก็คิดได้ว่าเราไม่สามารถที่จะทำเครื่องยนต์ขายได้ เพราะข้อจำกัดบางอย่าง แต่เราสามารถที่จะขายพาร์ทหรืออะไหล่ชุดคิดต่างๆได้ นั่นแหละ คือแนวคิดที่เยี่ยมที่สุดที่เราจะพัฒนา Performance Part เพื่อจำหน่ายให้กับคนที่ต้องการเครื่องยนต์สำหรับ FlatTrack ด้วยการสั่งอะไหล่พิเศษจากเราแล้วนำไปปรับแต่งเครื่องยนต์หรือรถที่เขามีอยู่แล้ว ”
จากจุดนี้เองบริษัทจึงได้เดินหน้าจับมือกับสำนักแต่งชั้นนำต่างๆ อาทิ Vance & Hines , Web Cam , Velocity รวมทั้งชุดคิดจาก YMUS เอง ซึ่งต่างก็มีเป้าหมายเพิ่มสมรรถนะให้กับ MT-07 รวมทั้งสามารถเพิ่มขนาดเครื่องยนต์จากมาตรฐานเดิม 700 ซีซี ให้ขยับเข้าใกล้กับข้อกำหนดตามกติกาที่ให้มีขนาดเครื่องยนต์ถึง 750 ซีซี
จากสเตปแรกแนวความคิดต่างๆก็ต่อยอดออกไปเรื่อย จนกระทั่งผู้จัดการฝ่ายผลิตรถจักรยานยนต์ของ YMUS (อเมริกันยามาฮ่า) ที่เคยเป็นนักแข่งประเภท FlatTrack อย่าง Derek Brooks ได้แชร์ความคิดและร่วมมือกับสำนักแต่ง Pahhegyi Designs ของ Jeff Palhegyi สร้างรถคอนเซ็ฟท์ออกมาโชว์ในงานแสดงรถ AIMExpo โดยใช้เครื่องยนต์เจนเนอเรชั่นใหม่ New MT-07 CP2 สรุปก็คือ ได้รับการตอบรับมีผู้คนให้ความสนใจมากกับการปรากฏตัวของ DT-07 Dirt Tracker Concept Bike ซึ่งทำให้ผู้คนเริ่มมีความสนใจมากขึ้นไม่เว้นแม้แต่ทีมแข่งที่มีแนวคิดนำเครื่องยนต์ MT-07 นี้ เข้าสู่สังเวียนแข่งขัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เจ้าของธุรกิจคนส่งสินค้าที่ไปได้ดีกับวงการรถบรรทุกอย่าง Tim Estenson ที่เริ่มจากการสนับสนุนนักแข่งเล็กๆน้อยๆด้วยความชอบในการแข่งขัน Flat Track เป็นการส่วนตัว ก่อนที่จะตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่วงการเต็มตัว ซึ่ง Keith McCarty ในฐานะ Racing Division Manager ได้กล่าวว่า “ Tim Estenson ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันโดยเขาเลือกใช้รถYAMAHA พวกเขาก็ทำงานกันเป็นไปได้ด้วยดี แต่ว่าเขานั้นกลับไม่ค่อยแฮปปี้กับทิศทางบางอย่างในการทำงานของพวกเขา ดังนั้น Tim จึงได้มีโอกาสมาแบ่งปันความคิดระหว่างกัน ในการที่จะพัฒนารถแข่ง และนั่นทำให้เราได้เริ่มต้นทำงานร่วมกันอย่างจริงจังเพิ่มขึ้น ”
หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า FlatTrack มันสำคัญแค่ไหนกับวงการแข่งขันของอเมริกา ง่ายๆเลยถ้าคุณเคยสัมผัสเกมไซเคิลครอสในภาคตะวันออกของไทย “นั่นแหละ” มันคือ การแข่งขันระดับรากหญ้า ระดับที่ปลูกฝังอยู่ในสายเลือดเลยล่ะ ทว่าที่ผ่านมาไม่มีโอกาสมากนักที่รถจักรยานนยนต์จากญี่ปุ่นจะมีโอกาสเข้าไปมีบทบาทมากนักในอเมริกันเรซซิ่งเกมนี้ ดังนั้นคนไม่น้อยจึงค่อนข้างแปลกในที่ Estenson เลือกที่จะลงสนามด้วยYAMAHA “YAMAHA ถูกฝังอยู่ในตัวผมตั้งแต่สมัยเด็ก มันคือรถคันแรกที่ผมเริ่มหัดขี่ และอีกมากมายที่มามีบทบาทกับชีวิตแต่ละช่วงเวลาของผม ดังนั้นเมื่อผมจะเข้ามาในสังเวียน FlatTrack ด้วยการทำทีมของตัวเอง แน่นอนว่าความคิดผมก็คือจะต้องเข้าสู่การแข่งขันด้วยรถYAMAHA ”
สองปีของการเริ่มต้นด้วย MT-07 เขาพยายามพัฒนาทุกอย่างจากที่มีอยู่ในลิสต์ผลิตภัณฑ์ของ YMUSA หรือแม้แต่การติดต่อหาชิ้นส่วนของ MT-07DT ที่ทางสำนักแต่ง Palhegyi พัฒนาร่วมกับ YMUSA เพื่อนำพาร์ทคิทต่างๆมาใช้กับรถแข่งของทีม ขณะเดียวกันก็เริ่มแพลนการพัฒนาทีมอย่างมีระบบมากขึ้น เรียกว่า “ลองผิดลองถูก” จากการลงสนามจริง กว่าที่ทีมพวกเขาจะก้าวสู่โพเดี้ยมได้สำเร็จ พร้อมๆกับเป้าหมายที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน American FlatTrack นั้น เพิ่มความท้าทายที่มากขึ้นจากเดิม ที่เป็นเพียงการแข่งขันแบบ Dirt หรือสนามดินในแนวไซเคิลครอสแบบบ้านเราเพียงแต่พวกเขาแข่งกันแบบโอวอล หรือขี่วนบนแทร็คคล้ายๆวงรีนั่นเอง ปัจจุบันพวกเขาได้ปรับรูปแบบสนามที่ต่างกันไปถึงสี่รูปแบบ คือ Miles,Half-Miles,Short Tracks และ TTs ซึ่ง Tommy Hayden ได้กล่าวว่า “ ส่วนตัวผมคิดว่าการพัฒนารถแข่ง Flat Track นี้อยู่ในระดับที่ยากกว่า MotoGP หรือ WorldSBK ด้วยซ้ำไป ในแต่ละสนามพวกเขาจะเจอการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสนามแข่งในแต่ละกรังด์ปรีซ์ แต่สำหรับเราสนามแข่งขันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงแทบตลอดเวลา สนามเปียกหรือแห้ง ไลน์ขี่มีเปิดช่องใหม่หรือเปล่า แทบๆจะทุกสิบนาทีสภาพสนามแข่งของเราจะมีการเปลี่ยนสภาพตลอดเวลาตามที่บอก สิบนาทีที่แล้วคุณอาจจะขี่ได้เร็วที่สุดแต่หลังจากนั้นคุณอาจจะช้าลงสองสามวินาที เพียงเพราะการแข่งขันหรือการขับขี่มีการเปลี่ยนไลน์ หรือมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นบนพื้นแทร็ค ต้องบอกว่าสภาพแทร็คเรามีความหลากหลายหรือมีตัวแปรที่มากมายเกิดขึ้นตลอดเวลา บนสนามที่มีตั้งแต่ความยาวสั้นๆ จนถึงโอวอลระยะหนึ่งไมล์ และอาจจะมีสนามในแบบ TTs ที่ในแทร็คอาจจะมีเนิน มีจั้มพ์ หรือมีส่วนประกอบอื่นๆเข้ามาเป็นตัวแปรเพิ่มเติม ดังนั้นบางครั้งในการพัฒนารถที่คิดว่าเราทำดีแล้ว มันอาจจะใช้ได้แค่สถานการณ์หนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อสภาพสนามหรือแทร็คเปลี่ยนไป เราก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ มันคือความท้าทาย มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำกันอย่างจริงจังตลอดเวลาเพื่อพัฒนารถแข่งให้ดีที่สุดกับการแข่งขันแต่ละครั้ง ”
“การแข่งขันก็คือการแข่งขัน ” McCarty กล่าวเสริม “ พวกเขาต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมาย อย่างน้อยหนึ่งในนั้นก็คือ คำว่าแทร็คชั่น ที่ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันไหนๆพวกเขาต่างก็เผชิญกับปัญหานี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะโรดเรซหรือเดิร์ทเเทร็ค หรือโมโตครอส ทุกๆชิ้นส่วนของรถแข่ง ไม่ว่าระบบกันสะเทือน ระบบเบรก เครื่องยนต์ ต่างเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ อยู่ที่ว่าการแข่งขันแต่ละชนิดนั้นมีเป้าหมายอยู่ที่ใด อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี่เป็นเรื่องเดียวกัน มันคือเรื่องของวิศวกรรม ไม่เกี่ยงหรอกว่าจะทางเรียบทางฝุ่นทางวิบาก ทั้งหมดนี้มันคือเรื่องเดียวกัน การพัฒนาทางด้านวิศวกรรม เพื่อที่จะทำให้ได้รถแข่งที่พร้อมที่สุดสำหรับโอกาสในความสำเร็จบนสังเวียนนั้นๆ ”
ถึงเวลานี้แม้การระบาดของไวรัส Covid-19 จะส่งผลให้ฤดูกาลแข่งขันยังไม่เริ่มต้น ที่ซึ่งปี 2020 เป็นฤดูกาลที่พวกเขา ตั้งเป้าหมายที่สูงมากขึ้นในสังเวียน American Flat Track นี้ และพวกเขาหวังว่านี่จะเป็นการมุ่งหน้าสู่ความท้าทายอย่างเต็มตัวในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ YAMAHA ในเกม FlatTrack นี้ “ปลายปีที่แล้วเราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นมากมายหลังจากก้าวขึ้นโพเดี้ยมรวมทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการแข่งขัน ที่สามารถชนะได้บางสนาม ผมเชื่อว่าเราจะสามารถพัฒนาได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกในการแข่งขัน นี่คือเกมที่ผมรัก นี่คือความท้าทายของผม ผมต้องทำในสิ่งที่อยากจะทำ” Tim Estenson กล่าว “ ผมต้องการชนะ และชนะอย่างต่อเนื่องด้วยผลิตภัณฑ์จากYAMAHA”
ก็ยังคงต้องเฝ้ารอกันต่อไปกับเกมมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลก รวมทั้ง American FlatTrack นี้ ที่พวกเขาจะนำ MT-07 DT นี้ประสบความสำเร็จหรือบินสูงได้แค่ไหน ไว้มีโอกาสจักรยานยนต์เวิร์ลด์เราจะพยายามติดตามผลงานของ MT-07 ในอเมริกันมาฝากกัน