​วาเลนติโน่ รอสซี่ กับช่วงเวลาความสุขความทรงจำ พร้อมสถิติมากมายในเวิร์ลด์กรังด์ปรีซ์

“ที่ผมเลือกใช้หมายเลข 46 ก็เพราะมันเป็นหมายเลขที่พ่อผม(Graziano) เคยใช้ในการแข่งขันกรังด์ปรีซ์  แม้ว่าในปี 2001 ที่ผมชนะในรุ่น 500 ซีซีก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์โลกในระดับพรีเมียร์คลาสสำเร็จ และนั่นเป็นโอกาสที่สามารถจะเปลี่ยนมาใช้หมายเลข 1ได้ ทว่าผมก็ตัดสินใจที่จะไม่เปลี่ยน ในเมื่อนักแข่งอย่าง Barry Sheene นั้นยังมีหมายเลขประจำคือ 7 รวมทั้ง Kevin Schwantz ที่ยังใช้หมายเลข34 จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนเข้าใจว่าหมายเลขเหล่านี้คือใครในสนามแข่ง ดังนั้นผมจึงตัดสินใจที่จะใช้หมายเลข 46 ต่อไป และทุกวันนี้ทุกคนก็รู้จักกันดีว่าหมายเลข46 นี้ก็คือ Valentino Rossi”
 
เชื่อว่าแฟนๆโมโตจีพี โดยเฉพาะสาวก VR46 คงจะเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง เกี่ยวกับการที่ยอดนักแข่งชาวอิตาเลี่ยน ได้กล่าวถึงที่มาของ หมายเลข 46 หมายเลขรถแข่งที่ไม่มีใครในวงการมอเตอร์สปอร์ตจะไม่รู้จักว่าเป็นหมายเลขประจำตัวใคร
 




ระยะเวลาผ่านไปมากถึง 26ฤดูกาลของ Valentino Rossi ในสังเวียนการแข่งขันรถจักรยานยนต์ระดับโลก คงไม่มีนักแข่งคนใด ขับเคี่ยวช่วงชิงกับคู่แข่งระดับตำนานหลายยุคหลายสมัยหลายเจนเนอเรชั่น ที่ต่างก็มีชื่อชั้นระดับ บิ๊กเนม ทั้งสิ้น ที่ The Doctor ต้องเผชิญหน้าเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์โลกของตนเองในช่วงระยะเวลาของอาชีพ ไม่ว่า : Loris Capirossi, Sete Gibernau, Max Biaggi, Dani Pedrosa, Casey Stoner, Jorge Lorenzo, และ Marc Marquez  ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ ล้วนเป็นนักแข่งระดับสุดยอดทั้งสิ้น  นึกไม่ออกเลยว่าใครในปัจจุบัน จะผ่านสมรภูมิความเร็วได้อย่างสุดหินโหดเพียงนี้
 
“ ความตั้งใจในการแข่งขันของผมไม่เคยเปลี่ยนไปเลยตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อมีโอกาสที่จะบวกหรือเปิดเกมบู๊ ผมก็จะทำ และก็จะพยายามแซงขึ้นไปข้างหน้าให้สำเร็จ เพื่อผลการแข่งขันที่ดีที่สุดที่จะทำได้ เช่นเดียวกับที่ผมเคยบอกว่า ในปีนี้อยากจะกลับขึ้นโพเดี้ยมให้ได้สักครั้งก่อนที่จะจบฤดูกาล แม้ว่าอะไรบางอย่างจะไม่เอื้อกับโอกาสนั้น แต่ผมก็ยังคงตั้งใจว่าจะพยายามให้เต็มที่  ตลอดเวลาที่ผ่านมาในช่วงอาชีพของผมไม่เคยที่จะหยุดหรือท้อกับการทำหน้าที่นักแข่งของตัวเอง การเป็นนักแข่งนั้นจำเป็นจะต้องอุทิศเวลาอย่างมากสำหรับการเตรียมความพร้อมทางด้านกายภาพ และในช่วงหลังมานี้ผมมุ่งเน้นมาที่เรื่องนี้อย่างมากเป็นพิเศษ เพื่อที่จะพยายามยืนหยัดรักษามาตรฐานที่ดีที่สุดให้มีสมรรถภาพที่เพียงพอจะอยู่ในสนามแข่งขัน จึงใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ในโรงยิมมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเลย ทุกคนที่ VR46 Academy ต่างก็ให้ความช่วยเหลือผมมากมาย เราฝึกร่วมกัน และพวกเขาก็มีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้กับผม นอกจากนี้พวกเขายังช่วยให้ผมรู้สึกหนุ่มมากขึ้นด้วย ทำให้ผมสนุกกับการที่ได้ฝึกร่วมกับพวกเขาเสมอ จากนั้นวันเสาร์พวกเราจะออกไปขี่ด้วยกัน ซึ่งมันมีส่วนสำคัญอีกด้านหนึ่งของการฝึก ที่พวกเขาจะต้องขี่กันอย่างเร็วมากแล้วผมก็ต้องพยายามไล่ขี่กับพวกเขาตลอดเวลา มันทำให้ผมต้องพยายามเร่งสปีดตัวเองเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะขี่ไปกับนักแข่งวัยรุ่นเหล่านั้นได้ ”




 
หากย้อนดูในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากการมุ่งเน้นไปที่การวางแผนการฟิตเนส การฝึกซ้อม ให้ร่างกายมีความแข็งแกร่งแล้ว สิ่งหนึ่งที่จำเป็นการคือ การเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา “ ทุกวันนี้เรามีองค์ประกอบมากมายต่างจากสมัยก่อนอย่างมาก การเป็นนักแข่งที่อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ถ้าคุณต้องการจะอยู่ในแถวหน้านั้นคุณก็จะต้องเป็นเหมือนนักกีฬายอดเยี่ยมด้วย เมื่อก่อนคุณอาจจะประคองเกมขี่ไว้บู๊ในรอบสุดท้ายได้ แต่ทุกวันนี้ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกแล้ว คุณจะต้องมีสมาธิ จริงจังตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบสุดท้าย ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีฝึกฝนร่างกายให้หนักมากขึ้น เพราะคุณไม่สามารถลงสนามได้ถ้าร่างกายไม่พร้อมถึง 100% ในยามที่ไม่มีการแข่งผมจะฝึกซ้อมร่างกายทุกวัน ซึ่งจังหวะการขี่การแข่งขันในทุกวันนี้มากกว่าเมื่อก่อน ดังนั้นการฝึกฝนดูแลด้านกายภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งของการแข่งขัน ที่ซึ่งคุณจะต้องออกกำลังกายในระดับสูงและมีความแม่นยำมากพอที่จะเสริมสร้างสมรรถภาพที่ดีให้กับร่างกาย  ถ้าต้องการเป็นนักแข่งในระดับอาชีพ คุณจะต้องผสมผสานหลายๆอย่างเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด ซึ่งประสบการณ์ก็คือหนึ่งในส่วนประกอบนั้น ที่จะช่วยทำให้คุณรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในเวลาไหน ผมไม่แน่ใจว่ามันช่วยให้ผมเร็วขึ้นได้ไหม แต่ผมมั่นใจว่าประสบการณ์มีส่วนช่วยผมในหลายๆด้าน ประสบการณ์ช่วยให้ความผิดพลาดในสนามลดน้อยลง ในขณะที่แรงบันดาลใจหรือแรงกระตุ้นนั้นก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ทั้งการฝึกฝนที่มากขึ้น อายุหรือประสบการณ์ที่มากขึ้น ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจ คุณต้องถามตัวเอง เช่นที่ผมถามตัวเองว่า ทำไมจึงมาแข่งรถ คำตอบก็คือ ผมชอบมัน ผมยังคงสนุกกับมัน ผมชอบการที่ได้ปรับเซทรถแข่งของผม และชอบที่จะลงไปขี่ในสนามแข่ง และหลังจากยี่สิบปีผ่านไปในกรังด์ปรีซ์  ผมก็ยังรู้สึกว่ามีแรงกระตุ้นที่ยังอยากจะแข่งขันต่อไป ยังอยากที่จะทำผลงานให้ดีที่สุด ทุกๆอย่างล้วนเป็นองค์ประกอบที่มีส่วนสำคัญ  นอกจากนี้ผมมักจะท้าทายตัวเองอยู่เสมอ พยายามที่จะทดลองวิธีการใหม่ๆ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเรียนรู้และศึกษาคู่แข่งด้วยเช่นกัน ซึ่งนักแข่งทุกคนต่างก็มีสไตล์ที่ต่างกันไปเฉพาะตัว ดังนั้นคุณจะต้องศึกษาว่าอะไรที่จะสามารถนำมาใช้ได้กับตัวเอง อะไรไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้จริงกับตัวเอง อย่างการศึกษาในส่วนของการเซทรถ หรือเลือกยาง ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าถ้าเปลี่ยนตามแล้วจะสามารถปรับใช้เข้ากับสไตล์ตัวเองได้แค่ไหน สรุปคือนักแข่งจะต้องมีความเข้าใจว่าอะไรสามารถที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ได้ และตัวเองนั้นมีความสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีแค่ไหน”
 




ก็อย่างที่ทราบกันว่า ที่สุดแล้ว ช่วงเวลาที่เหล่าสาวกVR46 และแฟนๆมอเตอร์สปอร์ตบางส่วนที่ไม่อยากให้มาถึง ก็คือเกมสุดท้ายของฤดูกาล ที่หลังสิ้นสุดการแข่งขัน ก็หมายความว่า ที่ Valencia 2021 นี่คือ การลงสนามครั้งสุดท้ายอย่างเป็นทางการ ของ The Doctor  ด้วยการผ่านเส้นชัยเป็นอันดับที่ 10 พร้อมทั้งปิดแต้มสะสมไว้ที่ 44 คะแนน รั้งอันดับ 18 ของตารางคะแนนสะสม แน่นอนว่า สถิติทุกอย่างที่ Valentino Rossi ทำไว้ จะหยุดอยู่ที่ตรงนี้ เราลองมาไล่กันคร่าวๆ กันว่า ตลอด 26 ฤดูกาล ของตำนานหมายเลข 46 นั้น เป็นอย่างไรกันบ้าง
 
Rossi เป็นนักแข่งหนึ่งเดียวในประวัตืศาสตร์ ที่ครองแชมป์โลก 4 รุ่น คือ 125 - 250 - 500 และ MotoGP  นอกจากนี้ยังทำสถิติเท่ากับ Phil Reed ที่ครองแชมป์ 125 - 250 - 500 ได้สามรุ่น ตามที่มีบันทึกไว้ใน GP History ส่วน Marc Marquez แม้จะทำได้สามรุ่น แต่ก็เป็นรุ่น 125 - Moto2 - MotoGP และอีกเช่นกัน Rossi กับ Giacono Agostini เป็นนักแข่งเพียงสองคนในประวัติศาสตร์ที่ครองแชมป์ในระดับพรีเมียร์คลาสด้วย รถแข่งแบบทั้งเครื่องยนต์ สองจังหวะ และเครื่องยนต์สี่จังหวะ




 
ในปี 2004 นัดเปิดฤดูกาลที่ แอฟริกาใต้ Rossi สามารถชนะได้สำเร็จ ทำให้ได้รับการบันทึกว่าเป็นนักแข่งคนที่สอง ที่สามารถกลับมาชนะได้อีกครั้งด้วยรถแข่งต่างยี่ห้อต่างค่าย  อีกทั้งในปีนั้นRossiสามารถครองแชมป์โลกสำเร็จ จึงนับเป็นการทำสถิติเป็นนักแข่งคนที่สอง ถัดจาก Eddie Lawson ที่สามารถครองตำแหน่งแชมป์โลกได้ติดต่อกันด้วยการใช้รถแข่งต่างยี่ห้อต่างค่าย โดยEddie ใช้ Yamaha ในปี 1988 ต่อด้วยการใช้ Honda ในปี 1989
 
Rossi ได้รับการบันทึกว่าเป็นนักแข่งที่ทำสถิติยืนโพเดี้ยมติดต่อกันมากที่สุด ด้วยจำนวน 23 ครั้ง ที่รั้งตำแหน่ง TOP3 ระหว่างช่วงการแข่งขัน 2000 ที่โปรตุเกส ถึง 2004 ที่แอฟริกาใต้




 
Rossi ได้รับการบันทึกว่า เป็นผู้ที่คว้าชัยชนะครั้งที่ 500 ให้กับ Honda หลังจากชนะในการแข่งขัน 2001 JapaneseGP ในเดือนเมษายน2001
 
Rossi ได้รับการบันทึกว่าเป็นนักแข่งที่ชนะในระดับกรังปรีซ์ด้วยรถแข่งที่แตกต่างกันเจ็ดรูปแบบ คือ 125c.c. Aprilia , 250c.c.Aprilia , 500c.c.Honda , 990 c.c. Honda , 990c.c.Yamaha , 800c.c.Yamaha และ 1,000c.c.Yamaha
 
ในปี 2005 ได้กลายเป็นนักแข่ง Yamaha ที่ชนะมากที่สุดในหนึ่งฤดูกาล โดยทำได้ 11 ครั้ง  นอกจากนี้ยังเป็นนักแข่งที่ชนะมากที่สุดถึง 56 ครั้งด้วยรถแข่งYamaha ขณะที่รวมผลงานในระดับพรีเมียร์คลาสทั้งหมดแล้วเขาสามารถคว้าชัยชนะได้ถึง 89 ครั้ง แต่ถ้ารวมทั้งสามรุ่นแล้วเขาชนะรวม 115ครั้ง เป็นรองเพียง Giacomo Agostini ที่ชนะรวมไว้มากถึง 122ครั้ง




 
จากการจบอันดับสามที่ Jerez2020 นับเป็นการขึ้นโพเดี้ยมครั้งที่ 199 ของ Rossi ส่งผลให้เขาได้รับการบันทึกว่าเป็นนักแข่งที่มีโพเดี้ยมมากสุดในระดับรุ่นพรีเมียร์คลาส ซึ่งอันดับสองนั้นเป็น Jorge Lorenzo ที่ทำโพเดี้ยมได้ 114 ครั้ง ในระดับพรีเมียร์คลาส  และหากรวมผลงานของ Rossi จากทุกุรุ่น ก็จะนับได้ทั้งสิ้น 235 ครั้ง ที่มีตำแหน่งบนโพเดี้ยม ถือได้ว่าเป็นนักแข่งที่ทำโพเดี้ยมได้เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์กรังด์ปรีซ์
 
หลังจบ ValenciaGP2021 นับได้ว่า Rossi ลงสนามแข่งขันมากถึง 432 ครั้ง นับเป็น 44.4% ของการแข่งขันทั้งหมดในกรังซ์ปรีซ์ นับตั้งแต่เริ่มต้นมีการแข่งขันมาตั้งแต่ปี1949 สำหรับสถิตินี้นั้นอันดับสองเป็นของ Andrea Dovizioso ที่นับได้ 332ครั้ง หลังจบเกมที่ Valencia2021 เช่นกัน แต่ถ้านับเฉพาะการลงแข่งขันในระดับพรีเมียร์คลาสแล้ว จะพบว่า Rossi ลงแข่งขันไปทั้งสิ้น 372 ครั้งในรุ่นสูงสุด มากกว่านักแข่งคนอื่นๆพอสมควร ซึ่งอันดับสองที่ลงแข่งในระดับพรีเมียร์คลาสเป็นของ Alex Baros ที่บันทึกไว้ได้ 245 ครั้ง




 
ระยะเวลาของการคว้าชัยชนะต่อเนื่อง ในระดับพรีเมียร์คลาสหรือรุ่นสูงสุด ในที่นี้หมายถึงนับตั้งแต่การชนะครั้งแรก ซึ่งก็คือ เกมที่Rossi ลงแข่งในรุ่น500 ที่ Donington2000 นับต่อเนื่องจนมาถึงการคว้าชัยชนะหลังสุดคือ DutchTT2017 สรุปได้ว่าช่วงระยะเวลายาวนานถึง 16 ปี 351วัน และถ้านับรวมทั้งสามรุ่น ก็จะได้ระยะเวลาของช่วงเวลาของชัยชนะยาวนานถึง 20 ปี 311วัน โดยนับตั้งแต่ชนะครั้งแรกในรุ่น 125 ที่ Brno1997 จนมาถึง DutchTT หรือ Assen 2017 นั่นเอง และในช่วงเวลาของการเป็นนักแข่งนี้ Rossi ลงแข่งขันไปมากถึง 38 สนามแข่งที่แตกต่างกัน ซึ่งจากทั้ง 38 สนามนั้น เข้าสามารถชนะได้ 29 สนาม แต่ถ้าแยกออกมาเป็นเฉพาะการแข่งในระดับพรีเมียร์คลาส ก็จะได้สนามที่ต่างกัน 29สนาม โดยใน 29 สนามนี้เขาสามารถชนะได้ 23 สนาม การลงสนามแข่งขันในกรังด์ปรีซ์ของ Rossi นั้น สามารถนับจำนวนนักแข่งที่ร่วมโพเดี้ยมจากทุกรุ่นได้ทั้งสิ้น 55 คน(เฉพาะระดับพรีเมียร์คลาส จะมีนักแข่งทั้งสิ้น 38 คนที่ได้ร่วมโพเดี้ยม) ในจำนวนนี้ มีนักแข่งที่ร่วมโพเดี้ยมบ่อยที่สุด คือ Jorge Lorenzo ที่ขึ้นโพเดี้ยมร่วมกับ Rossi ทั้งสิ้น 53 ครั้ง และหลังจากจบเกมสนามสุดท้ายของฤดูกาลนี้ พร้อมกับการอำลาสนามของ The Doctor ก็จะไม่มีนักแข่งที่เกิดในช่วงปี 1970 ในสังเวียนการแข่งขันระดับพรีเมียร์คลาสลงชิงชัย เพราะ Rossi คือ นักแข่งที่เกิดในช่วงยุค 1970 คนสุดท้ายที่ยืนหยัดในเกมระดับสูงสุดของโลกนั่นเอง
 




เชื่อว่าแฟนๆจักรยานยนต์เวิร์ลด์หลายท่านคงได้รับข่าวสาร รวมทั้งบรรยากาศการเฉลิมฉลอง การอำลาของ The Doctorจากสื่อต่างๆและการถ่ายทอดสดการแข่งขันกันไปแล้ว  นี่คือ การโลดแล่นครั้งสุดท้ายของยอดนักแข่งที่เป็นตำนานบนหน้าประวัติศาสตร์ของ Grand Prix Motorcycle Racing สำหรับเนื้อหาสกู๊ปนี้อาจจะยาวพอสมควร อย่างไรซะก็ถือว่า เป็นการขอขอบคุณ ช่วงเวลาดีๆที่ The Doctor มอบให้กับพวกเราก็แล้วกันครับ .....GrazieVale

UIP : 1,113 | Page View : 2,660