​Strory from Pit Box … Lin Jarvis กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในการนำ M1 กลับสู่เส้นทางแห่งชัยชนะ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของ MotoGP นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงกติกาส่วนซอพท์แวร์ของระบบอิเล็คทรอนิคส์ รวมทั้งการเปลี่ยนมาใช้ยางMichelin จนกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่ยากลำบากของ Yamaha อย่างแท้จริง โดยหากดูภาพรวมในช่วง 2010-2014 สามารถชนะได้ 34 ครั้ง ก่อนที่ในช่วง 2015-2019 จะลดลงมาเหลือชนะเพียง 24 ครั้ง อีกทั้งในปีที่ผ่านมายังเป็นครั้งแรกที่ทีมแฟคทอรี่ทำเวลาในการควอลิฟายได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่สุดในเกมที่ออสเตรียเมื่อนักแข่งของทีมสตาร์ทจากกริดที่ 11 และ 14 โดยที่ Valentino Rossi เป็นนักแข่งYamaha ที่จบผลงานดีที่สุดด้วยการตามหลังผู้ชนะอย่าง Jorge Lorenzo 14 วินาที จนทำให้หัวหน้าโปรเจ็คโมโตจีพีในเวลานั้นอย่าง Kouji Tsuya ออกมาขอโทษที่ไม่สามารถทำเวลาควอลิฟายได้ดีอย่างที่ควร และนั่นทำให้ก่อนที่จะเริ่มต้นฤดูกาล 2019 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการ และการทำงานในด้านต่างๆมากมาย ซึ่ง Lin Jarvis ในฐานะ Yamaha Motor Racing Manager Director ที่ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า ผลงานที่ไม่ดีจากออสเตรีย คือจุดกำเนิดของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของทีมและบริษัทใช่ไหม
 
“ มันก็แค่หนึ่งในผลการแข่งขันที่ออกมาสนามหนึ่ง ซึ่งทุกทีมล้วนแต่มีผลงานดีและไม่ดีควบคู่กันไป ดังนั้นผมจึงบอกได้ว่าผลแข่งที่ออสเตรียไม่ใช่จุดเปลี่ยนอะไรของเรา เพียงแต่ว่าอย่างที่ทราบกันดีว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากมาระยะหนึ่งแล้วกับการลงแข่งขันที่ไม่สามารถรักษามาตรฐานที่เคยทำไว้ได้ และนั่นเองเราเริ่มคิดอะไรหลายๆอย่างมาระยะหนึ่งแล้ว จนกระทั่งผ่านเกมที่ออสเตรียนั่นแหละ เราจึงเริ่มทบทวนกันได้ว่า หลายๆอย่างที่เราเคยทำนั้น ไม่เวิร์คอย่างที่เคยเป็น หลายอย่างที่เรากำลังทำก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรรุดหน้าไปมากนัก จากการทบทวนหลายๆอย่างนี้เองเราจึงรู้สึกว่าถึงเวลาที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆเพื่อให้ได้บทสรุปที่ดีที่สุดในการพัฒนาหลายๆด้าน เราตัดสินใจกันในเดือนตุลาคม ก่อนจะสรุปอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ก่อนที่จะประกาศในเดือนธันวาคมว่า เราจะเปลี่ยนหัวหน้าโปรเจ็คโมโตจีพี จาก Kouji Tsuya มาเป็น Takahiro Sumi ที่ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งครั้งนี้จะเป็นกุญแจสำหรับเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆในการที่เราจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานในการทำงาน ได้เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ในการทำงานนี่คือการเริ่มต้นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงของเรา ”







จากจุดเริ่มต้นนี้ทำให้หวนนึกถึงการปรับเปลี่ยนของ Ducati ที่นำ Gigi Dall’Igna เข้ามาสู่ทีมก่อนจะปรับเปลี่ยนบุคลากรภายในและปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ทั้งหมด จนนำมาซึ่งแนวคิดใหม่ในการพัฒนารถแข่งให้ก้าวหน้าจากเดิมอย่างมาก ซึ่ง Lin Jarvis ได้กล่าวถึงการเปรียบเทียบนี้ว่า
 
“ เรามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทั้งในแง่โครงสร้างองค์กรและแบบแผนการทำงาน แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากก็คือทัศนคติและวิธีการทำงาน จากที่ผมคิดว่าเคยมีปัญหาทางด้านแนวความคิดและการทำงานบางอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ทุกคนกล้าที่จะทำอะไรที่แตกต่างจากที่เคย ทุกคนเริ่มมองสิ่งใหม่ๆมีวิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ที่สำคัญหลายคนรู้จักที่จะเปิดใจมากขึ้น จากที่พยายามทำเฉพาะหน้าที่ที่เคยทำและทำสิ่งที่เคยทำแบบเดิมๆอย่างหนักทั้งที่มันก็ไม่ได้ช่วยให้รุดหน้าไปไหน บางอย่างที่เรารู้ว่าขาดหรือด้อยเราก็กล้าที่จะมองหาคอนเน็คชั่นพิเศษจากภายนอกเข้ามา กล่าวคือเรามีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติกันใหม่ ผมคิดว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานกระบวนการคิดที่เป็นไปในทิศทางที่ดีจากความคุ้นเคยเดิม เรามองที่รถแข่ง เรามองที่ระบบปฏิบัติการณ์ เรามองทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง มิใช่เพียงโฟกัสไปที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญเรามีการสื่อสารที่ดีทั้งภายในและภายนอก แน่นอนว่าเราต้องยอมรับก่อนว่าเราเองก็มีขีดจำกัดทั้งในด้านบุคลาการทางวิศวกรบางอย่าง รวมทั้งข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ดังนั้นข้อมูลการวิจัยการพัฒนาบางทีจึงจำเป็นต้องอาศัยจากภายนอกองค์กรเข้ามาเสริมนั่นเอง ถึงตอนนี้เรามีคอนเน็คชั่นมากมายจากทั้งอิตาลีจากทั้งเยอรมันและจากที่อื่น เราได้ลองทำอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยทำอีกด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าจากการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำเราออกจากอุโมงค์ที่มืดไปสู่แสงสว่างที่ปลายทางได้ในที่สุด ”






 
การปรับเปลี่ยนทั้งหมดนี่ก็เพื่อเป้าหมายในการพัฒนารถแข่งเท่านั้นหรือ ดูเหมือนจะเล่นใหญ่ไปไหมนั่นคือที่ไม่ใช่เพียงจักรยานยนต์เวิร์ลด์เราที่แปลกใจกับการเปลี่ยนแปลงมากมายจนถึงโครงสร้างพื้นฐานภายในทีม แม้แต่สื่อต่างชาติเองยังถึงกับถามย้ำว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อการทำรถแข่งให้ดีขึ้นจริงๆหรือ
 
“ ใช่ ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้ ที่เรามีการเปลี่ยนแปลงมีการปรับเปลี่ยนมีการแก้ไขบางอย่างตลอดทั้งปีที่ผ่านมาในทีม ที่ต้องบอกว่าเราก้าวมาไกลจากจุดที่เคยทำมาค่อนข้างมากนี้ ก็เพื่อที่จะพัฒนารถแข่งของเราให้ดีขึ้น และทุกสิ่งที่ผมพูดก็ล้วนเกี่ยวกับการทำงานเพื่อพัฒนารถแข่ง ลองดูที่ท็อปสปีดของเราสิ ลองมองไปที่ปัญหาเรื่องแทร็คชั่นคอนโทรลที่เราเคยมีสิ ลองพิจารณาที่ระบบอิเล็คทรอนิคส์หรือยังล่ะ และอีกหลายๆองค์ประกอบที่เคยเป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับเรา ถึงตอนนี้จะพบว่าเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว เราได้พัฒนาทีม ได้พัฒนาระบบการทำงานภายใน ได้ปรับเปลี่ยนการประสานงานกับภายนอก นี่คือเรื่องราวพื้นฐานทั้งหมด ที่จะมีส่วนสำคัญกับการทำหน้าที่ในส่วนต่างๆ โดยส่วนตัวผมแล้วคือว่าปัญหาต่างๆที่เราเคยมีนั้น ยกกรณีของ Maverick ที่เขาบ่นเรื่องต่างๆของรถแข่งนั้น เมื่อผมพิจารณาแล้วทำให้คิดไม่ได้ว่าเกือบ100% นั้นมีผลมาจากเรื่องราวพื้นฐานภายในการทำงานทั้งสิ้นที่ทำให้การจัดการด้านเทคนิคของรถไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีพอ Maverickเข้ามาสู่ทีมในปี2016 เขาแจ้งเกิดได้ดี ซึ่งเวลานั้นต้องบอกว่ารถแข่งเรายังอยู่ในสถานะที่ดีพอสำหรับการแข่งขัน เพราะส่วนหนึ่งนั้นรถแข่งในปี2015เป็นรถแข่งที่สมบูรณ์มาก จึงส่งผลให้ในปีถัดมาเรายังอยู่ในมาตรฐานที่ดี แต่หลังจากนั้นคู่แข่งของเราสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่เราเองยังไม่ก้าวไปไหนเลย จึงไม่แปลกที่จะเห็นว่าเราค่อยๆห่างไกลจากโอกาสในชัยชนะเรื่อยๆ เขาต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากมากขึ้นกับโอกาสในการไล่ล่าชัยชนะ ขณะที่เราเองก็กำลังอยู่ในช่วงชะงักงัน ทุกคนพยายามทำงานอย่างหนักซ้ำไปซ้ำมาโดยที่ไม่สามารถรุดหน้าไปไหน ดังนั้นเราจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานตามที่กล่าวไปแล้ว และผมเชื่อว่าเวลานี้เรากำลังจะกลับเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งฤดูกาลหลังที่ผ่านมานั้นทุกคนจะเห็นว่าผลงานของ Maverick เริ่มที่จะกระเตื้องขึ้นกว่าครึ่งฤดูกาลแรก”







สรุปนี่คือการตัดสินใจเลือกที่ถูกต้องกับการจัดการทั้งหมดเพื่อพัฒนารถแข่ง “ นี่คือการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การปฏิวัติอะไรใหม่ เพราะปกติแล้วที่ Yamaha เองก็มีการหมุนเวียนตำแหน่งอยู่เสมอ เช่นกันเราตัดสินใจเปลี่ยน หัวหน้าโปรเจ็คโมโตจีพีคนใหม่ก็เพราะนี่จะเป็นกุญแจในการปรับทัศคติในการทำงานใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทีมงานในส่วนของยูนิตต่างๆทั้งของรถแข่งหมายเลข12และหมายเลข46 โดยเฉพาะการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนบุคลาการอย่าง Wilco Zeelenberg แน่นอนว่าผมจำเป็นต้องปรับเขาออกไปแม้ว่าเรากับพวกเขาจะมีช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมกับเรา แต่การที่เราห่างไกลจากชัยชนะมานาน แน่นอนเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงาน ดังนั้นผมจึงต้องตัดสินใจตัด Wilco ออกไป บวกกับเป็นช่วงเวลาที่ดีกับการที่เรามีทีมใหม่เกิดขึ้นมา และพวกเขาต้องการประสบความสำเร็จ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะปล่อย Wilco ไปร่วมงานกับพวกเขา ส่วนในกรณีของ Ramon Foncada นั้น แน่นอนว่าในฐานะช่างเขาไม่มีอะไรต้องพิสูจน์ฝีมือเนื่องจากมีผลงานที่ยอดเยี่ยมร่วมกับ Jorge Lorenzo เพียงแต่ว่าในการทำงานร่วมกับ Maverick นั้นต้องบอกว่า ยังไม่คลิกกันเท่าไรนัก ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ต้องเปลี่ยน ขณะเดียวกันเขาก็พร้อมที่จะตามไปร่วมงานกับWilcoในทีมใหม่ เช่นเดียวกันกับที่ในส่วนของยูนิตหมายเลข46 ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน”
 
และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ Lin Jarvis พูดกับสื่อต่างชาติถึงหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงต่างๆภายในทีม จนนำมาสู่ทิศทางบวกของการพัฒนารถแข่ง 2020 YZR-M1 ที่ทุกๆคนในทีมเริ่มรู้สึกชัดเจนขึ้นว่า “เราขยับเข้าใกล้คู่แข่งมากขึ้นแล้ว” หลังจากเผชิญช่วงเวลาชะงักงันมาร่วมสี่ปี แฟนYamaha Racing ก็คงต้องติดตามกันว่า ฤดูกาลใหม่ พวกเขาจะสามารถกลับมาสร้างโอกาสต่อสู่เพื่อชัยชนะได้เช่นมาตรฐานที่ผ่านมาหรือยัง



UIP : 1,661 | Page View : 2,492