
นั่นแหละที่ผมตัดสินใจเลิก.......วินัยและความรับผิดชอบ คือ หัวใจสำคัญ ของความสำเร็จ ในฐานะนักแข่งอาชีพ นี่เป็นสกู๊ปพิเศษที่ จักรยานยนต์เวิร์ลด์เรานำมาฝากเป็นการเก็บตกหลังงาน ARRC2019 นัดปิดฤดูกาล ที่ บุรีรัมย์ ซึ่งกอง บก.ของเรามีโอกาสได้พูดคุยกับ แชมป์เอเชีย สองสมัย แชมป์ออลเจแปนคนแรกของเมืองไทย อย่าง เดชาไกรศาสตร์ และคิดว่านี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง หลังจากเลาะเรียบไปหลังพิทของทีม
เปล่าไม่ใช่เรื่องราวรักๆใคร่ๆหรอกที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ เดชา ไกรศาสตร์ เปลี่ยนบทบาทจากนักแข่งมาเป็นโค้ช หลังยืนหยัดชิงชัยในสงครามความเร็วมายาวนาน ข้าพเจ้าพอจำได้และสอบถามจากพี่บก.ของนิตยสารจักรยานยนต์เวิร์ลด์นั้น กับ TZM150 วันเมคเรซ น่าจะเป็นลวดลายของ ยี่ห้อน้ำมัน Maxima หรือเปล่าไม่แน่ใจ ที่เห็นนักแข่งที่ชื่อ เดชา ไกรศาสตร์ จากนั้นก็มีโอกาสร่วมเดินทาง ไปสู้ศึกในระดับชิงแชมป์เอเชีย ด้วยรถ TZM150 ในสีเสื้อของ Yamaha Thailand ในระดับกึ่งแฟคทอรี่ ที่เวลานั้น เป็นเพียงการไปหาประสบการณ์ของ เดชา กับ หัวหน้าแมคคานิคส์อย่าง ปราสาท พันธ์แสง ที่ จูไห่ ประเทศจีน จากแชมป์สปอร์ตโปรดักชั่น 150 มือใหม่ ก้าวสู่นักแข่งเกรดชั้นแนวหน้าจนได้เข้าสู่ทีมโรงงาน ลงควบรถแข่ง GP125 อย่าง TZ125 จนคว้าแชมป์คนแรกของรายการที่จัดขึ้นในประเทศไทย จากนั้นทางเกมทางเรียบก็เปลี่ยนมาเป็นเกมแฟมิลี่สปอร์ต จนปี2007 ก็ได้ลงขี่รถบิ๊กไบค์ขนาด 600 ซีซีชิงแชมป์เอเซียครั้งแรก กับการลงควบรถยามาฮ่า YZF-R6 จนคว้าแชมป์เอเชียได้เป็นคนแรกของคนไทย แต่ที่แน่ คือ เดชา ไกรศาสตร์เป็นนักแข่งไทยคนเดียวที่คว้าแชมป์ All Japan ได้สำเร็จเมื่อปี2012 แต่ที่ข้าพเจ้าจำแม่นยำสุดในวินาทีแรกก็ คือ การได้สิทธิ์ไวลด์การ์ด รุ่น GP125 ที่สนามเซปังฯ ซึ่งมีสองนักแข่งไทย สุหทัย แช่มทรัพย์ กับ เดชา ไกรศาสตร์ ลงขับเคี่ยวชิงเชิงในสังเวียนระดับโลกด้วยกัน กับเป้าหมายในช่วงเวลานั้น คือ “จบการแข่งขันโดยไม่ถูกน๊อครอบ” ซึ่งเป็นสเตปสองของวงการมอเตอร์สปอร์ตไทย หลังจากที่ในปี 1999 ดิเรก อาชาวงศ์ ทำสำเร็จมาแล้ว กับการยืนระยะได้ครบรอบการแข่งขัน แถมไม่ถูกน๊อครอบ ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน เดชา ไกรศาสตร์ ยังคงวนเวียนในสังเวียนการแข่งขัน กับบทบาทใหม่ในทีม Yamaha Thailand Racing และระหว่างเกม FIM ASIA Road Racing 2019 นัดปิดฤดูกาลที่ บุรีรัมย์ เรามีโอกาสได้ สนทนากันเล็กน้อย แต่หลากเรื่องราว “โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ” และก็มีประเด็นหนึ่งที่อยากจะเอามาเล่าสู่กันฟัง
“ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในฐานะนักแข่ง ผมต้องคอยดูแลร่างกายให้มีความพร้อมมากที่สุด ต้องมีวินัยในการควบคุมสมรรถภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น เราก็ต้องเพิ่มระดับการฟิตซ้อมการเทรนนิ่งให้มากขึ้น เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของร่างกาย เชื่อไหมว่า ครั้งหนึ่งผมเคยออกกำลังกายมากขึ้น มากจนวันรุ่งขึ้นลุกไม่ไหว ซึ่งทำให้ผมรู้ตัวว่า ร่างกายเราเริ่มโรยราแล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดหรือลดระดับความเข้มข้นในการเทรนนิ่งได้ ไม่เช่นนั้น มันจะมีผลต่อระดับการขับขี่ในสนามแข่งขัน ที่เราอาจจะไม่สามารถยืนระยะได้คงเส้นคงวาจนครบรอบการแข่งขันนั่นเอง ”
ประเด็นนี้เองก็คล้ายกับที่ นักแข่งแถวหน้าสายวิบาก อย่าง อมรเทพฤทธิ์ ศรีกสิกิจ รวมทั้ง ชัยยันต์ โรมพันธ์ เองก็เคยพูดถึงประเด็นนี้ เพื่อที่จะรักษาสมรรถนะความแข็งแกร่งให้มีขีดความสามารถสูงสุดเพื่อรองรับเกมการชิงชัย นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องมีวินัย มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองอย่างสูง เดชา ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับนักแข่งใหม่บางทีส่วนหนึ่งก็มีผลจากผู้ปกครองด้วยนะ โดยเฉพาะเด็ก ที่บางครั้งเราแนะนำเราสอนบางอย่างไป แต่ก็เซ็ทศูนย์ ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเมื่อเจอพ่อแม่เขาก็จะบอกว่าไม่เป็นไร ไว้ก่อน ทั้งที่บางสิ่งนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำ ในฐานะนักแข่งอาชีพ ”
แล้วในทีม Yamaha Thailand Racing ล่ะ กับฤดูกาลแข่งขันปีนี้ โดยเฉพาะ ในรุ่น ASB1000 ดูเหมือนจะยังไม่เข้าที่เข้าทาง เมื่อเทียบกับ SS600 “ ความแตกต่างอย่างชัดเจนเลยก็คือ ระบบอิเล็คทรอนิคส์ ที่ค่อนข้างยากมากกับการเซ็ทติ้ง ผมคิดว่าเรายังคงต้องศึกษากันอีกนิด เพื่อหาค่าต่าง มันต่างกับรุ่น 600 อย่างมาก หรือแม้แต่รถแข่ง R1ใน Thailand Superbike ที่ทีมYamaha แข่งอยู่นั้นก็ต่างกัน กติกาไม่เหมือนกัน ทำให้เราต้องศึกษาและพยายามเรียนรู้ให้มากขึ้นกับ ASB1000 แต่ถึงเวลานี้ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนนักแข่งนั้นทุกคนก็มีความเป็นมืออาชีพ รู้หน้าที่ของตัวเองดีว่าจะต้องรับผิดชอบตรงไหนอย่างไร อย่างที่บอกว่าเวลานี้เราต้องพยายามเรียนรู้ให้เร็วที่สุดกับรถแข่งใน ASB1000 ส่วนตัวผมเชื่อว่า เราจะสามารถกลับมาทำผลงานได้ดีขึ้นกับรถแข่ง R1 เหมือนที่เราประสบความสำเร็จกับ R6 ที่ในปีนี้ ทีมเราคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน จากปีที่แล้ว เป็น รัฐพงษ์ วิไลโรจน์ มาปีนี้ เราก็ทำได้โดย พีรพงศ์ บุญเลิศ ”
นอกจากนี้ เดชา ไกรศาสตร์ ได้กล่าวเสริมอีกว่า “ ในส่วนของ ASB1000 อย่างที่บอกไปแล้วว่า ความยากมันอยู่ที่การเซ็ทติ้งเพราะความหยาบของระบบอิเล็คทรอนิคส์แบบสต๊อกทำให้การทำงานนั้นค่อนข้างยากลำบาก ไม่เหมือนกับการใช้ชุดคิทกับรถแข่งในประเทศไทย ที่ทำให้การทำงานง่ายกว่ามาก ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจร่วมกันในทีมให้มากขึ้น แม้ว่ารถแข่งจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จาก R6 มาเป็น R1 ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคมากนักในเรื่องของกายภาพของนักแข่งไทย เพราะเราสามารถที่จะฝึกฝนเพิ่มความแข็งแกร่งทางร่างกายเข้ามาช่วยได้ อย่างนักแข่งบางคนที่พื้นฐานร่างกายไม่แข็งแรงพอเราก็จะแนะนำให้ทำการเทรนนิ่งด้านร่างกายเพิ่มเติม ขณะที่ทักษะการขับขี่นั้นนักแข่งเราต่างก็มีสกิลที่ดีมีประสบการณ์ที่พร้อมเพียง แต่ในช่วงปีแรกนี้คงเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจกับระบบอิเล็คทรอนิคส์เป็นประเด็นหลักมากกว่าครับ ในส่วนของนักแข่งน้องๆนั้นผมก็อยากจะฝากว่า แต่ละคนก็ควรจะมีวินัยมีความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเพื่อมีความพร้อมกับการแข่งขัน แน่นอนว่าผมเคยเจอมาก่อน มันไม่สบายนักหรอก แต่การเทรนนิ่งร่างกาย คือส่วนสำคัญในการก้าวไปบนเส้นทางนักแข่งอาชีพ ซึ่งผมเองก็ทำมาอย่างต่อเนื่องในช่วงชีวิตนักแข่ง ก่อนที่จะตัดสินใจยุติเส้นทางนักแข่งของตนเอง อยู่ที่วินัยและความรับผิดชอบของแต่ละคนครับว่าจะสามารถปฏิบัติได้ดีที่สุดแค่ไหน เพื่อที่จะยืนหยัดบนเส้นทางนี้ได้นานที่สุด”